แชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับ บ้านของชาวญี่ปุ่น PASA24 7507 แชร์ สวัสดีค่ะ สำหรับบทความนี้ดิฉันขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง บ้านของชาวญี่ปุ่นค่ะ ทำไมหรือคะ การที่เราเข้าใจเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย มันเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถเข้าใจวัฒนธรรมและลักษณะของชาวญี่ปุ่นได้มากขึ้น ดิฉันจึงขอเล่าสภาพบ้านญี่ปุ่นให้ฟังเท่าที่ดิฉันจะบรรยายได้ค่ะสารบัญเนื้อหาลักษณะ บ้าน ของชาวญี่ปุ่น ลักษณะ อะพาร์ตเมนต์ ของชาวญี่ปุ่น ลักษณะ ภายในบ้าน ของชาวญี่ปุ่น ลักษณะ ห้องน้ำ ของชาวญี่ปุ่น สรุป ลักษณะ "บ้าน" ของชาวญี่ปุ่นเมื่อพูดถึงบ้าน ทุกคนต้องอยากอยู่ในที่ที่สวยงาม ใหญ่โต สะดวกสบาย สะอาดสะอ้าน บรรยากาศดี ๆ เมื่อเปรียบเทียบประเทศบ้านของคนไทยกับประเทศญี่ปุ่น ดิฉันขอเรียนตามตรงว่าชอบบ้านของคนไทยมากกว่าญี่ปุ่นมากค่ะ ไม่ใช่ว่าบ้านของคนญี่ปุ่นไม่มีสิ่งที่ดิฉันกล่าวไปข้างต้น แต่รูปแบบซิคะ เวลาที่ดิฉันนั่งรถไฟไม่ว่าจะไปในตัวเมืองหรือชานเมืองดิฉันชอบมองออกไปทางนอกหน้าต่างและสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่ติดอยู่ภายในรถไฟ ดิฉันเห็นทรงแบบบ้านของชาวญี่ปุ่นมักเป็นทรงเหลี่ยม ๆ เป็นบล็อก ๆ หรือถ้าเป็นบ้านโบราณเราจะเห็นหลังคามีรูปแบบเหมือนศิลปะจีนแต่ไม่อลังการเท่า และผนังมีทั้งที่สามารถถอดแยกส่วนประกอบได้ หรือแยกส่วนประกอบไม่ได้ ภายในตัวบ้านโบราณจะมีคานที่ทำมาจากไม้เป็นท่อน ๆ ที่ขัดกันการประกอบเช่นนี้เนื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นมีภัยธรรมชาติคือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา รุนแรงบ้างไม่รุนแรงบ้าง ถึงขนาดที่ว่านักเรียนต่างชาติที่ไปที่ประเทศญี่ปุ่นแทบทุกคนจะได้รับการอบรมเรื่องภัยธรรมชาติชนิดนี้ ยังมีการจำลองให้อยู่ห้องที่มีแผ่นดินไหวระดับต่าง ๆ ให้เราได้เข้าไปลิ้มลองก่อนจะเจอะเจอของจริง ส่วนประตูจะเป็นบานเลื่อนโครงไม้และมีกระดาษสีขาวปิดไว้ เพื่อระบายอากาศที่อบอ้าวในหน้าร้อนลักษณะ "อะพาร์ตเมนต์" ของชาวญี่ปุ่นในตัวเมืองคนญี่ปุ่นมักจะอาศัยอยู่อะพาร์ตเมนต์ที่ก่อสร้างด้วยอิฐก้อนขนาดเล็กพอ ๆ กับอิฐมอญบ้านเรา และเป็นอาคารที่ไม่ค่อยสูงนัก มีส่วนประกอบอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือกระจกหน้าต่าง ภายในกระจกมีลวดสานเป็นตาข่าย แต่ดิฉันเข้าใจว่ามันไม่ใช่กระจกจริง ๆ น่าจะเป็นสารที่หล่อใช้ทดแทนกระจก นั่นแหละค่ะเหตุผลเดิมคือเสริมความแข็งแรงและป้องกันกระจกแตกเมื่อมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกอาคารจะมีทั้งน้ำอุ่น น้ำเย็น ท่อส่งแก๊ส ไม่ใช่แก๊สที่เป็นถัง ๆ อย่างบ้านเมืองเรานะคะ ส่วนในอะพาร์ตเมนต์ที่ราคาค่อนข้างแพงนิดหนึ่ง ที่ประตูทางเข้าอาคารจะมีตัวรับสัญญาณและตัวส่งสัญญาณไปยังห้องหมายเลขต่าง ๆ แล้วเมื่อมีแขกมาเยี่ยมแค่เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องพูดคุยกับคนในห้องได้ทันที คนในห้องสามารถกดสวิตซ์เปิดประตูให้คนที่อยู่ข้างนอกเข้าไปได้หรืออาจจะกดรหัสที่ประตูนั้น แล้วสามารถมาสู่ห้องที่จะไปได้เช่นกันลักษณะ "ภายในบ้าน" ของชาวญี่ปุ่นเมื่อเข้ามาภายในบ้านส่วนแรกที่เราจะพบคือ บริเวณ ที่ภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า "เก็งคัง" หรือทางเดินตรงนี้จะเป็นที่ถอดรองเท้าและเปลี่ยนใส่สลิปเปอร์ ห้องรับแขกของชาวญี่ปุ่นมีหลายลักษณะแต่ดิฉันอยากเล่าลักษณะที่มักพบบ่อย ๆ คือ จะเป็นห้องที่ปูด้วยเสื่อแผ่นไม่ใหญ่นัก หลายแผ่นเรียงต่อกัน ขนาดกว้างแค่ไหนแล้วแต่ความมีฐานะของแต่ละบ้าน โต๊ะตรงกลางมักจะเป็นไม้และมีเบาะล้อมรอบเอาไว้ปูนั่ง หรืออาจจะมีรูปแบบที่โต๊ะและมีเบาะนั่ง แต่สามารถห้อยขาลงไปได้และเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีการเปิดฮีทเตอร์ (ก็กินไฟน่าดูเหมือนกัน) ห้องนอนญี่ปุ่นแบบมาตรฐานมักปูด้วยเสื่อเช่นกันและไม่ค่อยจะใช้เตียงตอนนอนจะปูด้วยฟุต้ง คือเบาะหรือฟูกอย่างบ้านเรา ที่มีการสวมปอกอย่างสวยงามและพับเก็บในตู้ที่มีประตูเลี่ยนขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อตื่นขึ้นหรือเลิกใช้ บ้านญี่ปุ่นค่อนข้างจะเรียบร้อยและเรียบง่ายลักษณะ "ห้องน้ำ" ของชาวญี่ปุ่นมาดูห้องน้ำกันบ้างค่ะ ห้องน้ำของบ้านชาวญี่ปุ่นมักจะมีชักโครกที่สามารถกดน้ำล้างก้นอัตโนมัติ ท่านคิดว่ายังไงคะถ้าดิฉันจะขอใช้คำว่ามันเป๊ะ น้ำที่ฉีดพ่นมาตรงเป้าค่ะ ทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็น ที่ฝานั่งชักโครกมักมีปลอกที่ทำจากผ้าขนหนูหุ้มอยู่ ที่พื้นจะมีผ้ารองโถไว้สำหรับเช็ดขาหรือรองขาค่ะ สะอาดน่าใช้จริง ๆ แต่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับห้องน้ำสาธารณะนะคะ ซึ่งดิฉันจะไม่ขอเล่าถึงลักษณะของห้องน้ำสาธารณะ ข้อดีของห้องน้ำสาธารณะคือมักจะมีห้องน้ำสำหรับคนพิการด้วย ซึ่งภายในห้องน้ำจะมีขนาดค่อนข้างกว้างขวาง ที่ผนังมีราวเสตนเลสเอาไว้ให้จับนอกจากนั้นยังมีปุ่มกดต่าง ๆ ที่มีอักษรเบลและรวมทั้งปุ่มอิเมอเจนซี เพื่อเรียกให้คนภายนอกห้องได้ยินเมื่อมีอุบัติเหตุหรือคนพิการในห้องน้ำต้องการความช่วยเหลือสรุปมาถึงตรงนี้ทุกท่านคงจะอยากจะไปพักที่บ้านญี่ปุ่นกันพอสมควร ไม่เป็นไรค่ะถ้ามีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่นทุกท่านลองหาโอกาสไปพักแบบโฮมสเตย์แทนโรงแรมเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศดูบ้างก็ไม่เลวนะคะ ราคาก็ไม่แพงด้วยค่ะ บทความหน้าดิฉันจะมาแชร์ประสบการณ์เรื่องใด ฝากติดตามด้วยนะคะAuthor: Wraporn Santikunaporn